Regenerative คืออะไร ? การก้าวข้ามความยั่งยืนสู่การฟื้นฟู
ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ คำว่า “ความยั่งยืน”
(Sustainability) ที่เคยเป็นเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม กำลังถูกตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่
แนวคิดธุรกิจ Regenerative จึงเกิดขึ้นท่ามกลางการตื่นตัวครั้งใหม่ของวงการธุรกิจโลก ด้วยความเชื่อที่ว่า ธุรกิจไม่ควรเป็นเพียง “ผู้ไม่ทำร้าย” แต่ต้องก้าวขึ้นมาเป็น "ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก" ที่ช่วยฟื้นฟูและเยียวยาระบบนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน
ธุรกิจ Regenerative คืออะไร ? จาก Sustainable ก้าวสู่การฟื้นฟูอุตสาหกรรม
จากแนวคิดเดิมที่มุ่งแค่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "Regenerative" กำลังเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น โดยเป็นรูปแบบที่ยกระดับจากความยั่งยืนไปสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรต่าง ๆ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
ดังนั้น Regenerative Business คือ แนวทางการทำธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเพียงแค่การลด ป้องกัน หรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่มีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบในเชิงบวก โดยคืนคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งถือเป็นการก้าวสู่ขั้นตอนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ธุรกิจ Regenerative กับ ธุรกิจ Sustainable ต่างกันอย่างไร ?
ความแตกต่างหลักระหว่าง Sustainable และ Regenerative Business คือ ธุรกิจแบบยั่งยืน (Sustainable) จะเน้นที่การ “ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย” หรือ “ลดผลกระทบเชิงลบ” ในขณะที่ธุรกิจแบบฟื้นฟู (Regenerative) จะเน้นการ “สร้างผลกระทบเชิงบวก” และ “ฟื้นฟูระบบ” อย่างเป็นรูปธรรม
หลักการสำคัญของธุรกิจ Regenerative คืออะไร ?
การมองระบบแบบองค์รวม (Holistic System Thinking)
มองปัญหาและการแก้ไขแบบองค์รวม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของระบบต่าง ๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เน้นการทำความเข้าใจและตอบสนองต่อความซับซ้อนของระบบ ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะส่วน
การสร้างคุณค่าร่วม (Co-evolution)
มองการทำธุรกิจเป็นการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรและระบบต่าง ๆ จะพัฒนาไปด้วยกันอย่างสอดประสาน ไม่เป็นการแยกส่วนหรือแข่งขันกัน
นวัตกรรมที่มีชีวิต (Living Innovation)
มุ่งสร้างนวัตกรรมที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือต้องสอดคล้องและเสริมแรงกับระบบที่มีชีวิต ไม่ใช่นวัตกรรมที่แยกตัวออกจากสภาพแวดล้อม
การสร้างวงจรแห่งการฟื้นฟู (Regenerative Cycles)
ออกแบบให้เกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญของหลัก Regenerative ตัวอย่างเช่น การนำของเสียหรือผลพลอยได้กลับมาใช้ใหม่ พร้อมสร้างวงจรธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยไม่เกิดความสูญเสียหรือผลกระทบในระยะยาว
การสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว (Long-term Resilience)
มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงสร้างความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ข้อดี-ข้อเสียของธุรกิจ Regenerative
Regenerative Business มีข้อดีอย่างไร ?
การสร้างคุณค่าเชิงบวกที่ยั่งยืน
ไม่เพียงแค่ลดผลกระทบเชิงลบเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวก และฟื้นฟูระบบนิเวศให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาที่ค้ำจุนระบบธรรมชาติและสังคมให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ความได้เปรียบในการแข่งขัน
สร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค องค์กร และนักลงทุน ตลอดจนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ
ความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวสูง พร้อมรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
สร้างความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่งเสริมการพัฒนาที่สอดคล้องและเกื้อหนุนกันระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความร่วมมือและการพึ่งพาอาศัยกันในระยะยาว
Regenerative Business มีข้อเสียอย่างไร ?
ความท้าทายในการลงทุน
การเปลี่ยนแปลงสู่ Regenerative Business คือแนวทางที่ต้องใช้ทรัพยากรและการลงทุนสูง รวมถึงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการ
ความยากในการวัดผล
ตัววัดผลงานค่อนข้างไม่ชัดเจนและยากต่อการประเมิน อีกทั้งความสำเร็จยังมักเกิดขึ้นในระยะยาว ไม่ได้เห็นผลชัด ๆ ในระยะแรกเท่าไรนัก
แรงต้านทานจากองค์กรและระบบเดิม
อาจเผชิญกับความไม่เข้าใจและการต่อต้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่ม และบางทีอาจต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวัฒนธรรมในองค์กรร่วมด้วย
Regenerative Business กับตัวอย่างการปรับใช้ในธุรกิจจริง
- Patagonia – บริษัทผลิตอุปกรณ์กลางแจ้งและเสื้อผ้า มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
- IKEA – ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในบ้าน มีเป้าหมายที่จะใช้วัสดุที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือรีไซเคิล 100% ภายในปี 2030 ทั้งยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถแยกชิ้นส่วนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตลอดจนสนับสนุนการให้บริการซ่อมแซม และการนำเฟอร์นิเจอร์เก่ากลับมาใช้ใหม่
- Interface – บริษัทผลิตพรมและวัสดุปูพื้น ตั้งเป้าที่จะเป็น “Carbon Negative” ภายในปี 2040 ปัจจุบันเริ่มมีการนำวัสดุจากของเสียและวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการผลิต และออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
สรุปว่า Regenerative Business คือการปฏิวัติรูปแบบการทำธุรกิจที่จำเป็นต่อการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 องค์กรที่เข้าใจและปรับตัวได้เร็วจะเป็นผู้นำในตลาดยุคใหม่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการก้าวสู่การเป็นธุรกิจ Regenerative นั้นอาจดูท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน พร้อมกับการมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน
Loading...