เมื่อความยั่งยืนกับประเภทธุรกิจสวนทาง จะมีวิธีปรับตัวอย่างไร
ในโลกปัจจุบัน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจของทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลายประเภทต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มักถูกมองว่าเป็น “ตัวร้าย” ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงแล้ว แม้แต่อุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ก็สามารถปรับตัวและพัฒนาได้ไม่ต่างจากธุรกิจทั่วไป ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาดูตัวอย่างของ 3 อุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญความท้าทายด้านความยั่งยืน พร้อมเผยวิธีการปรับตัวที่จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่รอดในยุคที่ผู้บริโภคหันมา “รักษ์โลก” กันมากขึ้น
3 อุตสาหกรรมที่ดูเหมือนสวนทางกับเทร็นด์ความยั่งยืน แต่สามารถปรับตัวได้
1. อุตสาหกรรมพลาสติก
อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร การย่อยสลายที่ใช้เวลานาน และการใช้ทรัพยากรฟอสซิลในการผลิต อย่างไรก็ตาม แม้จะดูท้าทายที่อุตสาหกรรมนี้จะดำรงอยู่ในโลกที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องซีเรียสขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
แนวทางการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมพลาสติก
พลาสติกชีวภาพ
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เอง และใช้เวลาเร็วกว่าเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไป ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ค้างอยู่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะในแหล่งน้ำและมหาสมุทรที่มีปัญหาอย่างหนัก นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบที่มาจากการเกษตรยังช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรฟอสซิล อันเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและมีผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การรีไซเคิลขั้นสูง
การรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่แปรรูปพลาสติกใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้อีกครั้งโดยไม่สูญเสียคุณภาพของวัสดุ ทำให้สามารถใช้พลาสติกในการผลิตซ้ำได้หลายครั้ง วิธีนี้ไม่เพียงแต่ลดปริมาณขยะพลาสติกเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตพลาสติกใหม่ ตลอดจนแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกที่มีความซับซ้อน เช่น พลาสติกผสม หรือพลาสติกที่มีสารเจือปนอื่น ๆ อีกด้วย
การออกแบบเพื่อรีไซเคิล
การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกในอดีตมักไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการรีไซเคิล แต่ปัจจุบัน แนวคิดการออกแบบเพื่อรีไซเคิล (Design for Recycling) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น กล่าวคือ เป็นการปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งไปอย่างไม่จำเป็น โดยการออกแบบที่ดีจะต้องคำนึงถึงการแยกชิ้นส่วน การลดการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการรีไซเคิล และการใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% เช่น พลาสติกแบบโมโนวัสดุ (Monomaterial)
พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในทะเล
นอกจากปัญหาขยะพลาสติกที่สะสมอยู่ในมหาสมุทรแล้ว ยังมีพลาสติกขนาดเล็กที่แตกตัวจากพลาสติกทั่วไป ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำเช่นกัน ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในสภาพแวดล้อมทางทะเล (Marine Degradable Plastics) จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในน้ำเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์จากพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายได้อีกด้วย
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น
เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจนึกถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ทั้งในแง่ของการใช้น้ำ การปล่อยสารเคมี และการสร้างขยะจากการผลิตเสื้อผ้าสไตล์ Fast Fashion ที่ผู้บริโภคมักใส่แค่ไม่กี่ครั้งแล้วก็ทิ้ง แต่แท้จริงแล้ว อุตสาหกรรมนี้ก็สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกแห่งความยั่งยืนได้ไม่ยากเช่นกัน
แนวทางการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น
วัสดุยั่งยืน
การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยั่งยืนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเลยทีเดียว โดยวัสดุที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคนี้ ได้แก่ เส้นใยธรรมชาติที่ปลูกแบบออร์แกนิก เช่น ฝ้ายออร์แกนิก ป่าน ลินิน ซึ่งใช้วิธีการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมีอันตรายและยาฆ่าแมลง ทำให้ไม่เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ำ นอกจากนี้ เส้นใยรีไซเคิลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น การใช้พลาสติกจากขวด PET ที่นำมาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่ ช่วยลดทั้งขยะพลาสติก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องใช้ในการผลิตเส้นใยใหม่
การย้อมสีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กระบวนการย้อมสีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมาก ทั้งยังปล่อยสารเคมีอันตรายลงสู่น้ำทิ้ง แต่เราสามารถเปลี่ยนแนวทางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการเทคนิคย้อมสีแบบแห้ง (Dry Dyeing) ที่ใช้น้ำน้อยลง และใช้สีจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ลดการปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษลงสู่น้ำ
แฟชั่นหมุนเวียน
วิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือการเช่าเสื้อผ้า (Clothing Rental) ซึ่งผู้บริโภคสามารถเช่าเสื้อผ้าสำหรับใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ ได้แทนการซื้อใหม่ ช่วยลดการสะสมของเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วในตู้เสื้อผ้า นอกจากนี้ การซื้อขายเสื้อผ้ามือสองและการรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าก็ถือเป็นแนวทางที่ดี เนื่องจากการรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าจะทำให้เส้นใยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และลดปริมาณขยะเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ
การผลิตตามความต้องการ
การผลิตเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion มักจะผลิตในปริมาณมาก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเทร็นด์แฟชั่นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาคือ เสื้อผ้าที่ผลิตออกมาเกินความจำเป็นจะต้องถูกนำมาทิ้งหรือลดราคา ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรและพลังงานโดยใช่เหตุ ดังนั้น ควรผลิตแค่ตามความต้องการ (On-demand Manufacturing) โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ตอบสนองต่อคำสั่งซื้อจริง เช่น การใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการผลิตเสื้อผ้าและตัดเย็บตามความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้า ลดการสูญเสียทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตและขนส่งเสื้อผ้า
3. อุตสาหกรรมยานยนต์
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มักถูกมองว่าสวนทางกับแนวคิดความยั่งยืน เนื่องจากการผลิตและการใช้รถยนต์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ตั้งแต่การใช้พลังงานฟอสซิล การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการผลิตขยะที่เกิดจากยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งาน แต่เช่นเดียวกับสองอุตสาหกรรมก่อนหน้านี้ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ก็สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับเทร็นด์รักษ์โลกได้อย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน
แนวทางการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles - EVs)
แนวทางการปรับตัวที่เห็นได้ชัดที่สุดในช่วงนี้ คือ การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างการใช้งาน ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษทางอากาศได้ รวมถึงลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล อันเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานผลิต การลดการใช้น้ำและสารเคมีในการผลิตรถยนต์ รวมถึงการใช้วัสดุรีไซเคิลในชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้อีกด้วย
การพัฒนารถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก
นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว รถยนต์ไฮบริดที่รวมการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและมอเตอร์ไฟฟ้าก็เป็นทางเลือกที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หรือจะรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น ไฮโดรเจนและเชื้อเพลิงชีวภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งทิศทางที่อุตสาหกรรมยานยนต์ควรพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการในด้านความยั่งยืนเช่นกัน
แม้อุตสาหกรรมเหล่านี้จะเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แต่ก็มีแนวทางและโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ ด้วยการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมข้างต้นสามารถอยู่ร่วมกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด