< Back

รู้จัก ESOP การจัดสรรหุ้นให้พนักงานสามารถทำได้จริงหรือ ?

esopwhat is esop
AD
โดย:Jenosize.com
share1.66kshare0

ESOP คืออะไร ? รู้จักอีกเทคนิคในการรักษาพนักงานให้อยู่ยาว ๆ


การเป็นผู้ประกอบการที่ต้องบริหารทั้งองค์กร ทั้งคนในองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ที่เหล่าพนักงานต่างมองหางานที่ให้ความมั่นคงในชีวิต มีสวัสดิการดี ๆ มอบให้ ด้วยเหตุนี้ หลายบริษัทที่ไม่ตอบโจทย์ดังกล่าวจึงประสบปัญหาไม่สามารถรักษาพนักงานไว้ได้ ทำให้บางทีก็เสียบุคลากรคุณภาพไปให้องค์กรอื่น



บทความนี้ เราจะมาบอกเทคนิคใหม่ที่เหล่าธุรกิจสตาร์ตอัปในไทยเริ่มหันมาใช้กัน นั่นก็คือสูตร “ESOP: Employee Stock Ownership Plan” หรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเงินเดือนที่จะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพเอาไว้ได้ !


ESOP คืออะไร ?


Employee Stock Ownership Plan หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ESOP คือ แผนการจัดสรรหุ้นให้พนักงาน เป็นกลยุทธ์ที่บริษัทใช้มอบหุ้นหรือสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นแก่พนักงาน โดยพนักงานจะได้รับสิทธิ์ในหุ้นก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด เช่น ทำงานครบตามระยะเวลา หรือสามารถช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ ฯลฯ โดยหุ้น ESOP คือหนึ่งในสวัสดิการที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้พนักงานรู้สึกอยากทุ่มเทกับการทำงานมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้พวกเขาอยู่กับบริษัทได้นานกว่าเดิม เพราะ ESOP ช่วยให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าขององค์กร


ประเภทของการจัดสรรหุ้น ESOP คืออะไรบ้าง ?


1. Restricted Stock Grants


หุ้น ESOP ประเภท Restricted คือ การมอบหุ้นแก่พนักงานโดยตรง แต่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด โดยพนักงานที่ได้รับหุ้นจะต้องทำงานให้ครบตามระยะเวลาที่บริษัทกำหนด จึงจะสามารถขาย โอน หรือเปลี่ยนมือได้ และหากลาออกก่อนกำหนดก็อาจต้องคืนหุ้น


ทั้งนี้ เงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ ของหุ้นประเภทนี้จะไม่ตายตัว บางบริษัทอาจตั้งไว้เป็นเกณฑ์ระยะยาว ระยะสั้น หรือจะตั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ขึ้นมาเองเพิ่มเติมอีกก็ได้ อีกทั้งบุคลากรแต่ละรายหรือแต่ละองค์กร ก็จะมีสิทธิและเงื่อนไขในการซื้อหุ้น ESOP ที่แตกต่างกัน เพราะชื่อของหุ้นประเภทนี้คือ “Restricted” ซึ่งหมายความว่าเป็นหุ้นที่มีข้อจำกัด


2. Stock Appreciation Rights (SARs)


SARs เป็นการให้สิทธิ์แก่พนักงานในการได้รับผลตอบแทนเทียบเท่ากับ “ส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นในอนาคตกับราคาหุ้นในวันที่ออก SARs” โดยเมื่อพนักงานใช้สิทธิ์ พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของเงินสด หรือหุ้นของบริษัท ตามมูลค่าส่วนต่างของราคาหุ้น


อย่างไรก็ดี SARs ไม่ได้ให้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของหุ้นจริง แต่เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลประกอบการของราคาหุ้น ข้อดีคือช่วยลดความเสี่ยงของพนักงาน เพราะไม่ต้องลงทุนซื้อหุ้นจริง แถมยังได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้น ทว่าข้อจำกัดก็คือมีความซับซ้อนและอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของตลาด กระนั้น SARs ก็ยังเป็นหนึ่งในสูตร ESOP ที่มีประสิทธิภาพในการใช้เป็นแรงจูงใจพนักงาน


3. Phantom Stock

คล้ายกับ SARs คือ พนักงานจะไม่ได้ถือหุ้นจริง แต่สิ่งที่แตกต่างคือกลไกการคำนวณค่าตอบแทน กล่าวคือ Phantom Stock จะเป็นการจ่ายเงินสดแก่พนักงานในมูลค่าเทียบเท่ากับ “ผลตอบแทนของหุ้นในช่วงเวลาหนึ่ง” ซึ่งเท่ากับจำนวนหุ้นที่ระบุ คูณด้วยการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น โดยช่วงเวลาที่จะได้รับมักขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการทำงานและระยะเวลาการจ้างงาน


สรุปแล้ว SARs และ Phantom Stock เป็นวิธีการให้ผลตอบแทนแก่พนักงานตามผลประกอบการของราคาหุ้น แต่ SARs จะจ่ายตามมูลค่าส่วนต่างราคาหุ้น ในขณะที่ Phantom Stock จ่ายตามมูลค่าของหน่วยสมมุติของหุ้นที่มอบให้


4. Employee Stock Purchase Plans (ESPP)


ESOP ประเภทนี้ คือการเปิดโอกาสให้พนักงานซื้อหุ้นในราคาพิเศษที่ต่ำกว่าราคาตลาด เช่น ส่วนลด 15-20% จากราคาหุ้นจริง แต่มีเงื่อนไขคือต้องหักเงินออมสะสมจากเงินเดือนพนักงานเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน เมื่อครบกำหนดจึงจะได้ซื้อหุ้น จูงใจให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทได้ในราคาที่ถูกกว่า และสามารถนำไปขายต่อเพื่อทำกำไรได้ด้วย แต่ข้อจำกัดคือ เป็นหุ้นที่มีต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหาร โดยบริษัทอาจต้องจัดทำระบบพิเศษสำหรับโครงการซื้อหุ้นประเภทนี้โดยเฉพาะ 


ข้อดีของ ESOP คืออะไร ?
  • ดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ ESOP คือเครื่องมือที่ช่วยดึงดูดให้คนเก่ง ๆ อยากมาทำงานกับบริษัท แล้วยังช่วยรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับบริษัทนานขึ้นอีกด้วย
  • สร้างแรงจูงใจในการทำงาน เมื่อพนักงานได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของในบริษัท พวกเขาก็จะมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้เติบโต เพราะตนเองมีสิทธิประโยชน์จากตรงนั้น
  • ส่งเสริมความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กร ESOP ช่วยให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เกิดความผูกพันและภักดีต่อบริษัท
  • เพิ่มขวัญกำลังใจของพนักงาน เมื่อพนักงานมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการเติบโตของบริษัท ขวัญกำลังใจในการทำงานของพวกเขาก็จะมีมากขึ้น


ESOP เหมาะกับธุรกิจแบบไหน ?


ESOP เหมาะสำหรับธุรกิจทุกประเภทที่ต้องการสร้างแรงจูงใจและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้ โดยประเภทธุรกิจหลัก ๆ ที่ในไทยเริ่มมีการนำ ESOP มาใช้ในองค์กร เช่น


ธุรกิจสตาร์ตอัป

โดยทั่วไปแล้ว สตาร์ตอัปมักมีทรัพยากรด้านการเงินจำกัด จึงใช้ ESOP เป็นแรงจูงใจเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ โดยให้โอกาสในการเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของธุรกิจ เมื่อองค์กรประสบความสำเร็จ พนักงานก็จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นตามไปด้วย


ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้มักมีการแข่งขันสูง ดังนั้น การใช้ ESOP เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะและความรู้เฉพาะทางเอาไว้จึงเป็นสิ่งจูงใจที่ดี โดยเฉพาะกับพนักงานระดับ Software Engineer, Data Scientist, AI Specialist เป็นต้น


ธุรกิจวิชาชีพ บริการ และองค์กรมหาชน

เช่น บริษัทกฎหมาย บริษัทที่ปรึกษา สถาบันการเงิน หน่วยงานราชการ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถระดับสูงไว้ โดยการให้ ESOP จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนมีส่วนได้เสียและผูกพันกับองค์กรมากขึ้น


ธุรกิจที่มีแผนระดมทุนหรือเสนอขายหุ้นสู่ตลาดหลักทรัพย์

ESOP จะช่วยกระตุ้นความมุ่งมั่นของพนักงานให้สร้างผลงานเพื่อเพิ่มมูลค่าขององค์กร เนื่องจากตระหนักว่าตนเองจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของมูลค่าหุ้นนั้นด้วย


การเลือกใช้ประเภทหุ้น ESOP

Restricted Stock Grants
  • เหมาะสำหรับพนักงานระดับปฏิบัติการที่มีผลงานโดดเด่น
  • ให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจ เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานเต็มที่
  • บริษัทต้องใช้เงินทุนในการออกหุ้นใหม่หรือซื้อหุ้นคืนจากตลาด


 Stock Appreciation Rights (SARs)
  • เหมาะสำหรับพนักงานทุกระดับในองค์กร
  • มอบโอกาสในการได้รับผลประโยชน์สูงหากราคาหุ้นเพิ่มขึ้น เป็นแรงจูงใจระยะยาว
  • เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบริษัทที่มีข้อจำกัดในการออกหุ้นใหม่ และไม่ต้องการใช้เงินทุนจำนวนมากในการให้สิทธิ์แก่พนักงาน


Phantom Stock
  • เหมาะสำหรับพนักงานทุกระดับที่บริษัทต้องการสร้างแรงจูงใจระยะยาว
  • ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างเงินทุนและสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท
  • เป็นรูปแบบการให้ผลตอบแทนที่เข้าใจง่ายกว่า SARs เหมาะกับบริษัทขนาดเล็ก


Employee Stock Purchase Plans (ESPP)
  • สำหรับพนักงานระดับปฏิบัติการทั่วไป ควรออกแบบให้ ESPP มีความง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น ช่วงเวลาซื้อสั้น ๆ 6 เดือนถึง 1 ปี อัตราส่วนลดราคาไม่มากนัก
  • สำหรับพนักงานระดับบริหารและผู้มีส่วนสำคัญ ควรออกแบบให้ ESPP มีระยะเวลายาวขึ้น 1-2 ปี มีอัตราส่วนลดราคาสูงกว่า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำงานกับบริษัทต่อไป
  • หากบริษัทมีเงินทุนจำกัด อาจกำหนดโควตาการซื้อหุ้น ESPP ต่อคนหรืออาจปรับลดอัตราส่วนลดให้ต่ำลง


แม้ ESOP จะนำมาใช้ได้ในหลายธุรกิจ แต่ควรพิจารณาการนำมาใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะองค์กร วัฒนธรรม และเป้าหมายระยะยาวด้วย นอกจากนี้ บริษัทที่ใช้สูตร ESOP จะต้องมีการออกแบบแผนอย่างรอบคอบ พิจารณาถึงเงื่อนไข ระยะเวลา และจำนวนหุ้นที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งบริษัทและพนักงาน


อยากเป็นองค์กรชั้นนำที่สร้างความสุขในการทำงานแก่บุคลากรได้ ต้องเริ่มจากการบริหารจัดการเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายใน เราขอแนะนำให้คุณรู้จักกับ “แฮปปี้เวิร์ค” ระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์สำหรับงานฝ่ายบุคคลและองค์กรสมัยใหม่ พัฒนาโดยเจโนไซส์ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ทดลองใช้ฟรีได้แล้ววันนี้

Related Content

ร่วมเปิดกล่องโอกาส
แห่งอนาคตด้วยกัน

Contact

Brief Us

ง่ายและรวดเร็ว
เราจะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง

facebook chat

คุยกับทีมฝ่ายขาย

ให้บริการ จันทร์ถึงศุกร์
9:00 น. - 19:00 น.

mobile

โทรติดต่อฝ่ายขาย

ให้บริการ จันทร์ถึงศุกร์
9:00 น. - 19:00 น.