รู้จัก New S-Curve เทรนด์สินค้าที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
ในยุคการตลาดดิจิทัลที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เทรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาอยู่เสมอ การจะอยู่ให้รอดและประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจปัจจุบันได้ ผู้ประกอบการและนักการตลาดจึงจำเป็นต้องติดตามสิ่งเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และหนึ่งในเทรนด์สำคัญที่ควรจับตามอง คือ “New S-Curve” เทรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตที่นักธุรกิจต้องรู้หากไม่อยากล้าหลังใคร !
New S-Curve คืออะไร ?
New S-Curve คือ เทรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่กำลังมาแรงและมีศักยภาพในการช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้สูง เปรียบเสมือน “คลื่นลูกใหม่” ที่จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดยสินค้าเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ทั้งยังสามารถสร้างอิมแพ็กทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
New S-Curve มีอะไรบ้างที่นักธุรกิจควรนำมาปรับใช้ ?
New S-Curve จะแบ่งออกเป็น 10 อุตสาหกรรมหลัก ๆ ซึ่งธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว สามารถนำไปปรับใช้ได้เลยเพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
1. ยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive)
ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญภายใต้แนวคิด New S-Curve ที่นักธุรกิจไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตสูง และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน ผู้ประกอบการสามารถนำมาปรับใช้และต่อยอดในธุรกิจต่าง ๆ ได้หลากหลายแบบ เช่น
- ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ตัวเลือกใหม่สำหรับการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องปรับตัวโดยการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
- ธุรกิจยานยนต์อัจฉริยะและขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous & Smart Vehicles) เช่น ระบบควบคุมรถโดยไม่ต้องใช้คนขับ ระบบช่วยเตือนอุบัติเหตุ ระบบนำทาง ฯลฯ ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้รถ
- ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ เช่น แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ระบบควบคุมและคอมพิวเตอร์บนรถยนต์ ระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ฯลฯ เพื่อรองรับการผลิตยานยนต์ในอนาคตที่จะต้องมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และการเชื่อมต่อสูง
2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ นอกจากจะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นแล้ว ยังประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย ดังนั้น ธุรกิจที่ขายสินค้าประเภทนี้จึงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น
- ธุรกิจผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสำหรับใช้ในบ้าน (Smart Home) เช่น หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและควบคุมการทำงานผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนหรือการสั่งงานด้วยเสียง
- ธุรกิจผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสำหรับสำนักงาน เช่น จอแสดงผลอัจฉริยะ โต๊ะประชุมอัจฉริยะ เครื่องปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง ที่สามารถเชื่อมต่อและรองรับการทำงานแบบอัตโนมัติ
- ธุรกิจการให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ ผ่านกล้องวงจรปิด เซนเซอร์ตรวจจับการบุกรุก และระบบควบคุมประตู หน้าต่างอัตโนมัติ
- ธุรกิจพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อการวางแผนและตัดสินใจทางธุรกิจ
3. การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็น New S-Curve ที่มีโอกาสทางการตลาดกว้างขวาง เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ให้คุณค่ากับการท่องเที่ยวและสุขภาพ โดยนักธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้
- ธุรกิจที่พักสำหรับกลุ่มเป้าหมายรายได้สูง เช่น โรงแรมหรูระดับ 5-7 ดาว รีสอร์ตระดับพรีเมียม เพื่อตอบโจทย์การให้บริการระดับมาตรฐานสากล มีสิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง
- ธุรกิจท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เช่น การจัดทริปท่องเที่ยวแบบพรีเมียม แพ็กเกจการท่องเที่ยวระดับหรูหรา การนำเที่ยวในสถานที่พิเศษโดยมัคคุเทศก์มืออาชีพ
- สปาและธุรกิจสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและผ่อนคลายร่างกายจากการทำงานหนัก เช่น สปาสุขภาพ ศูนย์พักผ่อนเพื่อสุขภาพ คลินิกเสริมความงาม การนวดแผนไทย
4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็น New S-Curve ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ดังนี้
- ธุรกิจพืชพันธุ์ดีเด่น โดยการปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีคุณภาพดี ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ให้ผลผลิตสูง ด้วยเทคนิคทางเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การตัดต่อยีนพืช การคัดเลือกพันธุ์
- ธุรกิจการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) ด้วยการนำระบบอัจฉริยะ เกษตรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เซนเซอร์ GPS ฯลฯ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จัดการน้ำและปุ๋ย ลดแรงงาน และควบคุมการใช้สารเคมีได้อย่างแม่นยำ
- ธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์และการผลิตอาหารสัตว์ โดยนำเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยีชีวภาพ และระบบอัจฉริยะ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพของเนื้อสัตว์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
5. การแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
การแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพและดูแลโภชนาการ มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจในการบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์ ปลอดภัย และเหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินชีวิตมากขึ้น ธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ย่อมมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น
- ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องการอาหารเฉพาะทาง โดยผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ใช้เป็นอาหารทางการแพทย์
- ธุรกิจอาหารสำหรับเด็ก ทารก และหญิงมีครรภ์ ที่ผลิตขึ้นตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย
- ธุรกิจแปรรูปผลไม้และพืชผักให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่ม ผลไม้แปรรูปกระป๋อง ผักและผลไม้แช่แข็ง เพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการและยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น
- ธุรกิจพัฒนาบรรจุภัณฑ์และวิธีการบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ เพื่อรักษาความสดใหม่และคุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์
6. หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics)
อีกหนึ่ง New S-Curve ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนจากการใช้แรงงาน ลดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน และเพิ่มความปลอดภัยในสถานประกอบการ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เช่น
- ธุรกิจผลิตและประกอบหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วน หุ่นยนต์ขนถ่าย หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายวัสดุ เพื่อนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
- ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เช่น ระบบมอเตอร์ขับเคลื่อน ตัวตรวจจับและเซนเซอร์ต่างๆ ซอฟต์แวร์ควบคุม
- การนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ในกระบวนการทำธุรกิจ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ลดข้อผิดพลาดจากการใช้แรงงานคน และลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว
7. การบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
การบินและโลจิสติกส์เป็น New S-Curve สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความปลอดภัยได้มากขึ้น ธุรกิจที่สามารถปรับตัวและนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ จะมีโอกาสแข่งขันและเติบโตได้ดียิ่งขึ้น เช่น
- ธุรกิจสายการบิน ทั้งสายการบินพาณิชย์ขนาดใหญ่และสายการบินต้นทุนต่ำ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบจองตั๋วออนไลน์ ระบบเช็กอินอัตโนมัติ แอปพลิเคชันสำหรับการให้บริการที่รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น
- ธุรกิจผู้ให้บริการรถเช่าและขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งพัสดุและสิ่งของเร่งด่วน โดยใช้ระบบการจัดการขนส่งที่ทันสมัย
- ธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ด้วยการนำระบบการจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อติดตามและควบคุมการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) เป็น New S-Curve ที่ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น
- ธุรกิจปิโตรเคมีและพลังงาน สามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เอทานอล หรือเชื้อเพลิงอื่น ๆ จากพืชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและยานพาหนะ
- ธุรกิจการเกษตรและอาหาร ใช้เคมีชีวภาพเป็นปุ๋ยหรือสารเคมีทางการเกษตร รวมถึงนำผลพลอยได้จากภาคการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพ
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ใช้พลาสติกชีวภาพ สารเคมีชีวภาพในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
- ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทบำบัดน้ำเสีย สามารถใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายของเสียต่าง ๆ
9. ดิจิทัล (Digital)
หนึ่งใน New S-Curve ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตทางธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในทุกภาคส่วน โดยเราสามารถนำดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจได้หลายแนวทาง เช่น
- เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ช่วยในเรื่องการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาวางแผนการผลิต การบริหารสินค้าคงคลัง และห่วงโซ่อุปทาน
- IoT และ Cloud Computing เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงานด้วย IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลและติดตามสินค้า บริการ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการนำ Cloud Computing มาใช้จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่
- E-Commerce และช่องทางออนไลน์ โดยธุรกิจสามารถใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเปิดร้านค้าออนไลน์ และขายสินค้าได้ทั่วโลก รวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ก็สามารถนำมาใช้ในการสื่อสารการตลาดได้เช่นกัน
- ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ธุรกิจต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลและบริการออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาบริการรับรองความปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ลูกค้า
10. การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
การแพทย์ครบวงจร หมายถึง การให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันโรค ไปจนถึงการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ และยาทางการแพทย์ โดยการนำการแพทย์ครบวงจรมาปรับใช้ในธุรกิจต่าง ๆ มีดังนี้
- ธุรกิจโรงพยาบาลและสถานพยาบาล พัฒนาศักยภาพในการให้บริการครบวงจร ทั้งการตรวจวินิจฉัย การผ่าตัด การรักษาด้วยการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด รวมถึงการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่มาใช้ เช่น ระบบนัดหมายแพทย์ดิจิทัล การให้คำปรึกษาออนไลน์ ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์
- ธุรกิจผลิตยา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา ชีววัตถุ อุปกรณ์ช่วยผ่าตัด หรืออุปกรณ์ติดตามสุขภาพอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
BOI สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมใน New S-Curve หรือไม่ ?
BOI (Board of Investment) หรือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย
หลายคนอาจสงสัยว่า หากอยากทำธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม New S-Curve จะได้รับการสนับสนุนจาก BOI หรือไม่นั้น คำตอบคือ BOI ได้ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีก 5 ปี
- ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ
- สิทธิพิเศษด้านวีซาและใบอนุญาตทำงาน
- เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นเพื่อสนับสนุนด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นับว่า New S-Curve คือเทรนด์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตลาดยุคนี้ เนื่องจากก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาสู่สินค้า บริการ และโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมความสะดวกสบาย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนากลยุทธ์และเปิดตลาดใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
อยากเป็นผู้นำเทรนด์ในอุตสาหกรรม แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หมดกังวลได้เลย เพราะเจโนไซส์ช่วยคุณได้ ! เรามีบริการเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่พร้อมผลักดันให้คุณทำธุรกิจภายใต้นวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุด ติดต่อเราได้เลยวันนี้