รู้จัก Business Model Canvas เครื่องมือช่วยวางกลยุทธ์ธุรกิจ
ในยุคที่มีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทายท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การจะอยู่รอดและเติบโตในอุตสาหกรรมได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สามารถธุรกิจบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ คือ การทำ “Business Model Canvas” หรือการวางโมเดลธุรกิจเพื่อให้แผนการดำเนินงานมีความครอบคลุมและรัดกุมยิ่งขึ้น
Business Model Canvas คืออะไร ?
BMC หรือ Business Model Canvas คือ เครื่องมือทางธุรกิจที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย Alex Osterwalder นักเขียนและที่ปรึกษาธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ ในหนังสือ Business Model Generation โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างและวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงคิดค้น Business Model Canvas นี้ขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับออกแบบ วิเคราะห์ และวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งในเวลาต่อมา แนวคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ประกอบการเพื่อใช้พัฒนาแนวคิดทางธุรกิจ เนื่องจากเป็นโมเดลที่ช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของตลาดได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน อันนำมาซึ่งความเข้าใจในองค์ประกอบสำคัญและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
องค์ประกอบของ Business Model Canvas คืออะไรบ้าง ?
Business Model Canvas ประกอบไปด้วย 9 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1. Customer Segments (กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย)
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ธุรกิจต้องการนำเสนอสินค้าและบริการให้ รวมถึงต้องการทำความเข้าใจสิ่งที่พวกเขามองหาและปัญหาที่พวกเขากำลังประสบ โดยอาจแบ่งเป็นหลายกลุ่มตามลักษณะต่าง ๆ เช่น ประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พฤติกรรมการทางการตลาด รสนิยม ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ
2. Value Propositions (คุณค่าของธุรกิจ)
คุณค่าหรือประโยชน์ของสินค้าและบริการที่ธุรกิจต้องการส่งมอบแก่ลูกค้า โดยอธิบายว่าสินค้าและบริการของธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร หรือมีจุดเด่นอะไรที่แตกต่างจากคู่แข่งบ้าง อันเป็นสิ่งที่จะช่วยดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายมาอุดหนุนแบรนด์มากขึ้น เช่น ราคา ความคุ้มค่า คุณภาพ ฯลฯ
3. Channels (ช่องทางในการทำธุรกิจ)
การกำหนดช่องทางในการนำเสนอคุณค่าและเข้าถึงลูกค้า ทั้งช่องทางในการสื่อสาร ช่องทางการจัดจำหน่าย และช่องทางในการให้บริการลูกค้า เช่น เว็บไซต์ ร้านค้า ตัวแทนจำหน่าย โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ ฯลฯ
4. Customer Relationships (ความสัมพันธ์กับลูกค้า)
การกำหนดประเภทของความสัมพันธ์ที่ธุรกิจต้องการสร้างและรักษาไว้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น การให้บริการส่วนบุคคล การบริการตนเอง การสร้างชุมชน การเสนอโปรโมชันพิเศษ ฯลฯ
5. Revenue Streams (รายได้ธุรกิจ)
รายได้ที่เข้ามาจากการส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้า ซึ่งอาจมาจากหลายแหล่ง เช่น การขายสินค้า การให้บริการ การเก็บค่าสมาชิก ค่าธรรมเนียม ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ
6. Key Resources (ทรัพยากรหลัก)
การระบุทรัพยากรหลักที่เป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ เช่น บุคลากร เครื่องจักร ระบบเทคโนโลยี ฐานข้อมูล เงินทุน ฯลฯ
7. Key Activities (กิจกรรมหลัก)
การระบุกิจกรรมหลักที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการและสร้างคุณค่า จนกระทั่งพาองค์กรไปสู่การประสบความสำเร็จได้ เช่น การผลิต การบริการ การแก้ปัญหา การวิจัยและพัฒนา ฯลฯ
8. Key Partnerships (ผู้สนับสนุนหลัก)
การระบุเครือข่ายพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ เช่น ซัปพลายเออร์ พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ หุ้นส่วนกลยุทธ์ ฯลฯ
9. Cost Structure (โครงสร้างต้นทุน)
การวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนหลักที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร เงินเดือนและสวัสดิการ ต้นทุนการตลาด ค่าเช่า ฯลฯ
ทำไมธุรกิจต้องทำ Business Model Canvas ?
ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจภาพรวมของธุรกิจ
Business Model Canvas คือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน รวมถึงสามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของธุรกิจได้ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การมองเห็นภาพรวมของตลาดยังช่วยให้สามารถวางแผนกลยุทธ์และกำหนดทิศทางองค์กรได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
ช่วยให้ระดมทุนสำหรับธุรกิจได้ง่ายขึ้น
นักลงทุนมักต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ และ Business Model Canvas จะช่วยสื่อสารแนวคิดและรูปแบบทางธุรกิจได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ทำให้นักลงทุนสามารถประเมินความเป็นไปได้และศักยภาพของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน และช่วยเพิ่มโอกาสในการระดมทุนให้มากขึ้น
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
Business Model Canvas คือสิ่งที่ช่วยให้พนักงานเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กรได้ชัดเจนขึ้น ว่าควรพัฒนาแผนธุรกิจอย่างไร ต้องปรับปรุงที่จุดไหน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความสับสน ความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่าเดิม
ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
การทำ Business Model Canvas จะช่วยให้องค์กรสามารถระบุจุดแข็ง จุดเด่น และคุณค่าที่แตกต่างของตนเองได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การแข่งขัน และสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งให้แก่ลูกค้าได้ เพิ่มโอกาสในการเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้ามากขึ้น
การออกแบบ Business Model Canvas ให้มีประสิทธิภาพ
ทำความเข้าใจตลาดและลูกค้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เนื่องจากการรู้จักตลาดและลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน เข้าใจถึงความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า อันจะนำไปสู่การกำหนดคุณค่าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างแท้จริง รวมถึงการกำหนดช่องทางที่เหมาะสมในการเข้าถึงลูกค้าด้วย
ระบุคุณค่าที่ต้องการนำเสนอแก่ลูกค้า
โดยอาศัยข้อมูลจากการวิเคราะห์ตลาดและลูกค้าที่ได้จากข้อแรก ซึ่งการระบุคุณค่าให้ชัดเจนจะทำให้ธุรกิจสามารถกำหนดแผนกลยุทธ์และกิจกรรมสำคัญเพื่อสร้างและส่งมอบคุณค่านั้น ๆ แก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม
กลยุทธ์การตลาดสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าและคุณค่าที่จะนำเสนอทุกครั้ง เช่น การกำหนดช่องทางการสื่อสาร วิธีการสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงแผนการสร้างรายได้จากลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์ต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถดึงดูดและรักษาลูกค้าไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของรูปแบบธุรกิจ
โดยการประเมินความเสี่ยง ต้นทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อให้สามารถกำหนดทรัพยากรหลัก กิจกรรมหลัก รวมถึงโครงสร้างต้นทุนและพันธมิตรที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ควรวิเคราะห์ด้วยว่ามีความเสี่ยงใดบ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ทดสอบและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อได้ Business Model Canvas เบื้องต้นแล้ว จะต้องมีการทดสอบกับกลุ่มลูกค้าจริงหรือตลาดจริง เพื่อประเมินผลตอบรับและความพึงพอใจ รวมถึงหาจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น เป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อค้นหารูปแบบที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจ
Case Study: ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการทำ Business Model Canvas
1. Facebook
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- ผู้ใช้ทั่วไป
- นักธุรกิจและนักการตลาด
คุณค่าของธุรกิจ
- นำเสนอแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียฟรี ที่ผู้ใช้สามารถสร้างโพรไฟล์ แชร์เนื้อหา ติดต่อสื่อสาร และเข้าร่วมคอมมิวนิตีต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจ
- มอบพื้นที่โฆษณาสำหรับธุรกิจ ช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่องทาง
- เว็บไซต์
- แอปพลิเคชัน
ความสัมพันธ์กับลูกค้า
- มีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายกับลูกค้า เช่น เว็บไซต์ ศูนย์ช่วยเหลือ อีเมล
- เก็บรวบรวมข้อเสนอแนะจากลูกค้าเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้บนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
รายได้ธุรกิจ
- รายได้จากการซื้อพื้นที่โฆษณาเพื่อแสดงบนแพลตฟอร์ม
- รายได้อื่น ๆ เช่น Oculus (แว่นตา VR) Portal (หน้าจออัจฉริยะสำหรับ Video Call)
ทรัพยากรหลัก
- โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง รองรับผู้ใช้หลายพันล้านคน
- ข้อมูลผู้ใช้จำนวนมากซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาและพัฒนาประสบการณ์ผู้ใช้ใหม่ ๆ
- ชื่อเสียงแบรนด์ที่โด่งดังและเชื่อถือได้
กิจกรรมหลัก
- พัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องด้วยฟีเจอร์และบริการใหม่ ๆ
- ขายพื้นที่โฆษณาบนแพลตฟอร์มแก่แบรนด์ที่ต้องการสร้างการรับรู้และโปรโมตสินค้า
- เก็บรวบรวม จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้ เพื่อนำมาปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้
ผู้สนับสนุนหลัก
- นักธุรกิจและผู้ที่ลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม
- บริษัทซอฟต์แวร์ เช่น Microsoft และ Adobe เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม
โครงสร้างต้นทุน
- ค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สูง เพื่อรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก
- ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแพลตฟอร์ม
2. 7-Eleven
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- บุคคลทั่วไปที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่าย
- พนักงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม ของใช้จำเป็น
- นักเดินทางที่ต้องการซื้อเสบียงหรือของใช้ระหว่างการเดินทาง
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนท้องถิ่น
คุณค่าของธุรกิจ
- ความสะดวก มีสาขามากมายทั่วประเทศ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงสินค้าและบริการ
- มีสินค้าหลากหลายประเภท ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า
- ราคาประหยัด คุ้มค่า
ช่องทาง
- หน้าร้าน
- แอปพลิเคชัน 7-Eleven
- บริการจัดส่งถึงบ้าน
ความสัมพันธ์กับลูกค้า
- มีโปรแกรมสมาชิก ALL member ให้ลูกค้าสามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น สะสมแต้ม แลกรับส่วนลด
- มีบริการด้านอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เหนือกว่าการซื้อสินค้าในร้าน เช่น บริการกดบัตรคอนเสิร์ต บริการชำระเงิน ฯลฯ
- จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ลูกค้ามาอุดหนุนมากขึ้น
รายได้ธุรกิจ
- รายได้จากการขายสินค้า
- รายได้จากค่าธรรมเนียมบริการต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน
- รายได้จากการให้แบรนด์ต่าง ๆ มาเช่าพื้นที่ขายสินค้าภายในร้าน
ทรัพยากรหลัก
- สาขาจำนวนมากทั่วประเทศ
- สินค้าหลากหลายประเภท
- ระบบ IT ที่ทันสมัย รองรับการดำเนินงานต่าง ๆ
- พนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี
กิจกรรมหลัก
- การจัดหาสินค้าจากซัปพลายเออร์ที่มีคุณภาพ
- การบริหารจัดการสาขาต่าง ๆ ให้ทั่วถึงทั้งประเทศ
- พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพิ่มช่องทางการส่งเดลิเวอรีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า
- ทำการตลาดโดยใช้ศิลปินคนดังมาโปรโมตแบรนด์
ผู้สนับสนุนหลัก
- ซัปพลายเออร์ เช่น บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทผลิตอาหาร ฯลฯ
- ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เช่น บริษัทจัดการคลังสินค้า
- บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น True
- พันธมิตรทางการตลาด เช่น บริษัทโฆษณา
โครงสร้างต้นทุน
- ต้นทุนสินค้าในการจัดหาสินค้าจากซัปพลายเออร์
- ต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค
- ต้นทุนทางการตลาด เช่น ค่าโฆษณา ค่าส่งเสริมการขาย
3. Dutch Mill
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- คนออกกำลังกาย
- นักเรียน นักศึกษา
- คนทำงาน
- ผู้ที่รักสุขภาพ
- ครอบครัว
คุณค่าของธุรกิจ
- เครื่องดื่มรสชาติอร่อย ดื่มง่าย
- มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- มีหลากหลายรสชาติให้เลือ
ช่องทาง
- ร้านสะดวกซื้อ
- ร้านค้าปลีก
- ซุปเปอร์มาร์เก็ต
- เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ
- ร้านค้าปลีกแบบออนไลน์
- เว็บไซต์
ความสัมพันธ์กับลูกค้า
- ช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งในด้านสังคม สุขภาพ การศึกษา โดยเข้าถึงโรงเรียน โรงพยาบาล มูลนิธิ และชุมชนอย่างต่อเนื่อง
- ห่วงใยผู้บริโภค มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้คนไทยได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย และรสชาติอร่อย
รายได้ธุรกิจ
- รายได้จากการขายให้ร้านค้าปลีก
- รายได้จากการทำสัญญากับตัวแทนจำหน่าย
ทรัพยากรหลัก
- สูตรเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์
- สายการผลิต (Production lines)
- ชื่อเสียงของแบรนด์ที่โด่งดัง
- ช่องทางการจัดจำหน่าย
กิจกรรมหลัก
- วิจัยและพัฒนาสูตรเครื่องดื่ม
- สนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านดังกล่าว
- สร้างโครงการ และให้การสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพดีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ผู้สนับสนุนหลัก
- ผู้จัดจำหน่าย
- ผู้ผลิตวัตถุดิบ
- บริษัทขนส่ง
โครงสร้างต้นทุน
- ต้นทุนวัตถุดิบ
- ต้นทุนการผลิต
- ต้นทุนการตลาดและการขาย
- ต้นทุนการจัดจำหน่าย
- ต้นทุนบริหาร
จะเห็นได้ว่า การทำ Business Model Canvas คือเทคนิคที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างรูปแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด พร้อมออกแบบกลยุทธ์การดำเนินงานที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันท่ามกลางอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ประกอบการคนใดที่อยากสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แต่ยังเป็นมือใหม่ในแวดวงการตลาด หรือไม่มีเวลาลงมือทำเอง ติดต่อเจโนไซส์เพื่อพูดคุยกับที่ปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์ของเราได้แล้ววันนี้ !