Contextual Marketing คืออะไร ? พร้อมแจก 7 ไอเดียซื้อใจลูกค้า
เมื่อเราอยู่ในยุคที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จำนวนมาก อันส่งผลให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเยอะขึ้นตามไปด้วย การทำการตลาดแบบเหมารวมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป วันนี้ เราจึงจะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ “Contextual Marketing” หรือการตลาดตามบริบท ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีมาสักพักแล้ว และกำลังจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2025 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากเป็นการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงลูกค้าอย่างตรงจุด โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดโฆษณา เรียกได้ว่าแบรนด์สามารถซื้อใจลูกค้าได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว
Contextual Marketing คืออะไร ?
Contextual Marketing คือ กลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหา โฆษณา หรือข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง โดยพิจารณาจากบริบทแวดล้อมของผู้บริโภคในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เวลา อารมณ์ พฤติกรรมการใช้งาน หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศ
การทำ Contextual Marketing ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้แบรนด์สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและมีความหมายแก่ผู้บริโภคแต่ละคนได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate) และอัตราการเปลี่ยนผู้ชมให้เป็นลูกค้า (Conversion Rate) ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำคัญของ Contextual Marketing ยิ่งทวีคูณขึ้นในยุคที่ผู้บริโภคมีความคาดหวังสูงต่อประสบการณ์ที่ได้รับจากแบรนด์เช่นปัจจุบันนี้ พวกเขาต้องการความเข้าใจ ความใส่ใจ และการตอบสนองที่รวดเร็วและตรงจุด การทำการตลาดแบบ Contextual จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ
7 ไอเดียทำ Contextual Marketing เพื่อสร้างความแตกต่างให้แบรนด์
1. ใช้ Location-Based Marketing อย่างชาญฉลาด
Location-Based Marketing คือ การใช้ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งของผู้บริโภคเพื่อนำเสนอข้อมูลหรือโปรโมชันที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้าในช่วงเวลาที่พวกเขามีแนวโน้มจะตอบสนองต่อข้อเสนอมากที่สุด ตัวอย่างเช่น
- ร้านอาหารส่งโปรโมชันส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงในช่วงเวลาที่ร้านมักจะเงียบ
- ห้างสรรพสินค้าส่งแจ้งเตือนโปรโมชันเมื่อลูกค้าเดินเข้ามาในบริเวณห้างฯ
- แอปพลิเคชันท่องเที่ยวแนะนำสถานที่น่าสนใจใกล้เคียงตามตำแหน่งปัจจุบันของนักท่องเที่ยว
2. ทำคอนเทนต์การตลาดตามสภาพอากาศ (Weather-Based Marketing)
สภาพอากาศมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้บริโภค การทำ Weather-Based Marketing จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เพราะจะช่วยให้แบรนด์สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที เช่น
- แบรนด์เครื่องดื่มโปรโมตเครื่องดื่มเย็น ๆ ในวันที่อากาศร้อนจัด
- ร้านอาหารปรับเมนูและโปรโมชันตามสภาพอากาศ เช่น เมนูซุปร้อน ๆ ในวันที่ฝนตก
- แบรนด์เสื้อผ้าแนะนำคอลเลกชันที่เหมาะกับสภาพอากาศในแต่ละวัน
3. ใช้ประโยชน์จาก Micro-Moments
Micro-Moments คือ ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลหรือต้องการทำบางสิ่งบางอย่างทันที โดยพวกเขามักจะใช้สมาร์ตโฟนในการตอบสนองความต้องการนั้น ๆ เช่น การที่อยู่ ๆ ผู้บริโภคก็นึกอะไรขึ้นมาได้และหยิบมือถือขึ้นมาเซิร์ชหาทันทีโดยที่ไม่ได้แพลนไว้ล่วงหน้า ดังนั้น นักการตลาดจึงสามารถใช้ประโยชน์ จาก Micro-Moments ได้ด้วยการ
- สร้างคอนเทนต์ที่ตอบคำถามหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว
- ออกแบบแคมเปญที่ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของลูกค้า
- ใช้ AI เพื่อคาดการณ์และเตรียมพร้อมสำหรับ Micro-Moments ที่อาจเกิดขึ้น
4. สร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าตามประวัติการซื้อ (Purchase History Personalization)
การใช้ข้อมูลประวัติการซื้อของลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ Contextual Marketing ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากลูกค้าจะรู้สึกว่าแบรนด์เข้าใจความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง และรู้สึกอยากกลับมาอุดหนุนใหม่ หรือแม้แต่กระทั่งบอกต่อคนใกล้ตัว โดยแบรนด์สามารถทำ Purchase History Personalization ได้หลายวิธี เช่น
- แนะนำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ลูกค้าเคยซื้อ
- ส่งข้อเสนอพิเศษสำหรับสินค้าที่ลูกค้าซื้อเป็นประจำ ไม่ว่าจะผ่านทาง SMS หรืออีเมล
- สร้างแคมเปญรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าโดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการซื้อในอดีต
5. ทำการตลาดตามฤดูกาลและเทศกาล (Seasonal and Event-Based Marketing)
การปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับฤดูกาลและเทศกาลต่าง ๆ เป็นวิธีที่ช่วยสร้างความเชื่อมโยงกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้บริโภคคนไทยที่มักให้ความสนใจกับการชอปปิงช่วงเทศกาลเป็นพิเศษ หากสามารถทำ Contextual Marketing ตามเทคนิคนี้ได้ ก็จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความตื่นเต้นและความสนใจจากลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
- สร้างแคมเปญพิเศษสำหรับเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ คริสมาสต์ ฯลฯ
- ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เข้ากับฤดูกาลนั้น ๆ
- จัดกิจกรรมพิเศษที่สอดคล้องกับช่วงเวลาสำคัญของปี เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ และกระตุ้นการมีส่วนร่วม
6.ใช้ประโยชน์จาก User-Generated Content
User-Generated Content (UGC) คือ เนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับแบรนด์ที่ลูกค้าเป็นฝ่ายสร้างขึ้นเองโดยที่แบรนด์ไม่ได้จ้าง ถือเป็นเครื่องมือทรงพลังในการสร้างความน่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักจะเชื่อคำพูดของผู้บริโภคด้วยกันเองมากกว่าที่แบรนด์โฆษณา แต่เราเข้าใจดีว่าการที่จะมีลูกค้าคนหนึ่งทำคอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดไม่ได้เลย เพียงแค่ทำตามเทคนี้เหล่านี้
- ส่งเสริมให้ลูกค้าแชร์ประสบการณ์การใช้สินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น หากลงรีวิวแล้วแท็กร้านจะได้รับส่วนลดพิเศษ
- จัดแคมเปญประกวดภาพถ่ายหรือวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์
- ขออนุญาตลูกค้าเจ้าของคอนเทนต์เพื่อนำ UGC มาใช้ในการโฆษณาหรือการสื่อสารการตลาดของแบรนด์ เมื่อลูกค้าคนอื่น ๆ เห็นว่าแบรนด์ให้ความสนใจกับเสียงของลูกค้า ก็จะรู้สึกอยากสร้าง UGC ตาม
7. ปรับแต่งเนื้อหาตามพฤติกรรมการใช้งาน (Behavioral Targeting)
การใช้ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าเพื่อปรับแต่งเนื้อหาและข้อเสนอให้เหมาะสมเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ Contextual Marketing ที่ได้รับความนิยมมาก เพราะช่วยให้แบรนด์สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและมีความหมายสำหรับลูกค้าแต่ละคนได้ เช่น
- แนะนำสินค้าหรือบริการตามประวัติการค้นหาหรือการเข้าชมเว็บไซต์
- ปรับเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งานของแต่ละคน
- ส่งข้อความหรือแจ้งเตือนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมล่าสุดของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม การทำ Contextual Marketing ให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น AI และ Machine Learning เพื่อปรับแต่งเนื้อหาและประสบการณ์ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาสมดุลระหว่างความเกี่ยวข้องและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การขออนุญาตในการเก็บและใช้ข้อมูล รวมถึงการให้ทางเลือกแก่ลูกค้าในการควบคุมข้อมูลของตนเอง ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าได้