การตลาดกล่องสุ่ม ทำอย่างไรให้ลูกค้าเสพติด หยุดจุ่มไม่ได้!
ช่วงนี้ เชื่อว่าคุณที่กำลังอ่านน่าจะเคยเห็นสินค้าที่เป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ จากกล่องสุ่ม ผ่านไอจีสตอรีของเพื่อน ๆ หรือคอนเทนต์ของผู้อื่นบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ บ้าง หรือไม่ก็เป็นคุณเองที่อยู่ในวงการนี้ ! แต่เคยนึกสงสัยกันไหมว่า ทำไมจู่ ๆ การตลาดขายของแบบสุ่มให้ผู้บริโภคไปลุ้นเอาเองว่าจะได้ตุ๊กตาตัวที่ชอบหรือไม่เช่นนี้จึงได้รับความนิยมมาก แม้ผู้บริโภคจะมีตุ๊กตาที่อยากได้แค่ตัวเดียวจากทั้งหมดในคอลเล็กชัน แต่ก็ยอมซื้อมาเสี่ยง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีโอกาสจะที่ไม่ได้ตัวที่ชอบมากกว่าได้เสียอีก บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกและทำความเข้าใจการตลาดแบบจุ่ม ว่าทำไมคุณหรือเพื่อน ๆ ของคุณถึงจุ่มได้จุ่มดี จุ่มกี่ทีก็รู้สึกยังไม่พอ !
รู้จักการตลาดแบบ “จุ่ม” หรือ “สุ่ม”
การตลาดแบบจุ่ม หรือบางทีก็เรียกกันว่าการตลาดแบบสุ่ม เป็นรูปแบบการขายสินค้าที่ผู้ซื้อไม่รู้ว่าจะได้อะไรจนกว่าจะเปิดกล่องหรือซองออกมา แรกเริ่มคือมีที่มาจากตลาดของเล่นญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงปี 2000 และได้แพร่หลายไปยังตลาดในหลาย รวมถึงประเทศไทยด้วย อย่างเคสที่ทำให้สินค้าแบบกล่องสุ่มเป็นกระแสดังอยู่ช่วงหนึ่งคือ เคสของ “พิมรี่พาย” ยูทูบเบอร์และแม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ที่ได้นำสินค้าแทบจะทุกประเภทมาไลฟ์สดขายเป็นกล่องสุ่ม ตั้งแต่น้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงของกิน ผลไม้สด อาหารทะเล หรือแม้แต่คนที่เคยสุ่มได้รถป้ายแดงก็ยังมี !
เมื่อการตลาดของพิมรี่พายเป็นกระแสขึ้นมา ก็มีเน็ตไอดอลอีกหลายคนใช้การตลาดวิธีนี้ด้วย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จกันไปไม่น้อย กระทั่งแบรนด์ใหญ่อย่าง POP MART เข้ามาเป็นผู้นำตลาดในบ้านเรา ก็สามารถทำให้กระแสการตลาดแบบจุ่มเติบโตขึ้นอย่างมาก และยังคงได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้
ทำไมการตลาดแบบจุ่มจึงได้รับความนิยม ?
สร้างความตื่นเต้นและความคาดหวัง
การที่ผู้บริโภคไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะได้รับสินค้าอะไร ช่วยก่อให้เกิดความตื่นเต้นและความคาดหวังว่าจะได้รับสินค้าที่ชอบเมื่อเปิดกล่องออกมา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกสนานในการซื้อ
กระตุ้นสัญชาตญาณของนักสะสม
มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เปิดกล่องออกมาแล้วไม่ได้รับสินค้าที่ต้องการ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็จะยิ่งรู้สึกว่าต้องซื้อซ้ำอีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ตัวที่ชอบ หรือจนกว่าจะครบทุกตัวในคอลเล็กชัน
ราคาที่เข้าถึงได้
สินค้าแบบสุ่มมักมีราคาที่ไม่สูงมาก (หากซื้อจากทางแบรนด์โดยตรง ไม่ใช่จากผู้บริโภคด้วยกันเองที่ซื้อมาเพื่อรีเซลอีกที) ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสามารถซื้อซ้ำได้บ่อยครั้ง
ผู้บริโภคอยากซื้อเพื่อตามกระแสและทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย
อีกหนึ่งไฮไลต์ของสินค้ากล่องสุ่ม ที่เชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยเห็นผ่านหน้าไทม์ไลน์ของตนเองแน่นอน ก็คือการสร้างกระแสและความสนใจผ่านโซเชียลมีเดีย กล่าวคือ เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าแล้ว ก็มักจะแชร์ภาพและความคิดเห็นเกี่ยวกับตุ๊กตาตัวที่ตนเองแกะได้ ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่า อะไรที่ลงโซเชียลมีเดียไปแล้วมักเป็นไวรัลได้ง่ายเสมอ การซื้อกล่องสุ่มมาทำคอนเทนต์จึงกลายเป็นอีกเทร็นด์ของผู้บริโภคและชาวโซเชียลฯ ยุคใหม่ไปโดยปริยาย
กรณีศึกษา POP MART แบรนด์ของเล่นและของสะสมที่ประสบความสำเร็จจากการตลาดแบบจุ่ม
กลยุทธ์ของ POP MART
การออกแบบที่โดดเด่น
POP MART มีการออกแบบตุ๊กตาที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านรูปทรง สีสัน และความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละตัว ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่านี่คือสินค้าที่ต้องเก็บสะสม
การสร้างภาพจำของแบรนด์ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นสินค้าที่หายาก
แบรนด์มีการวางโพสิชันของสินค้าให้เป็นของที่มีจำนวนจำกัดหรือหาซื้อได้ยาก ยิ่งเป็นแบบนั้น ผู้บริโภคก็ยิ่งรู้สึกอยากครอบครอง เพราะเป็นความรู้สึกคอมพลีตอย่างหนึ่งของนักสะสม
ทำไมลูกค้าถึงหยุดจุ่มไม่ได้ ?
กลไกทางจิตวิทยา
การที่ผู้บริโภคไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะได้รับสินค้าอะไร ช่วยสร้างความตื่นเต้นและความอยากรู้อยากเห็น ยิ่งเมื่อเปิดกล่องแล้วพบว่าไม่ใช่ตัวที่ต้องการ ก็จะยิ่งเพิ่มความอยากลุ้นให้ได้ตัวที่ชอบในครั้งถัดไป
ต้องการซื้อให้ครบคอลเล็กชัน
เนื่องจากสินค้าของ POP MART มีหลายตัวในแต่ละคอลเล็กชัน ผู้บริโภคจึงมักรู้สึกอยากซื้อให้ครบทุกตัว เพื่อให้ได้คอลเล็กชันที่สมบูรณ์ นำมาวางแต่งบ้าน คอนโดฯ แล้วลงคอนเทนต์อวดเพื่อน ๆ ได้แบบสวย ๆ
ตัวอย่างการปรับใช้กลยุทธ์การตลาดแบบจุ่มสำหรับธุรกิจอื่น
ร้านอาหาร
- การจัดเมนูแบบ “ชุดสุ่ม” ที่ลูกค้าไม่รู้เมนูล่วงหน้า แต่จะได้เมนูที่ทางร้านคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน
- การจัดบริการส่งอาหารแบบสุ่ม ตอบโจทย์ลูกค้าที่คิดไม่ออกว่าวันนี้จะรับประทานอะไรดี
ร้านเสื้อผ้าและเครื่องประดับ
- จัดชุดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับในรูปแบบ “Box of Surprises” ที่ลูกค้าจะไม่รู้ว่าจะได้รับสินค้าอะไร
- จัดกิจกรรมแจกของสุ่ม เช่น แจกเครื่องประดับฟรีเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าครบยอดที่กำหนด
ร้านหนังสือ
- จัดชุดหนังสือสุ่มที่เปิดเผยแค่ธีมหรือแนวของหนังสือเท่านั้น แต่ไม่เปิดเผยชื่อหรือรายละเอียดของเล่ม
- เปิดให้ลูกค้าสามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับสินค้าแบบสุ่ม โดยลูกค้าจะได้รับหนังสือใหม่ที่ทางร้านคัดสรรมาให้ในทุกเดือน
การตลาดแบบจุ่มเป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังในการดึงดูดและรักษาลูกค้า โดยใช้ประโยชน์จากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องความตื่นเต้น การสะสม และการสร้างกระแสบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งความสำเร็จของ POP MART แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรูปแบบการตลาดนี้ อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต้องระมัดระวังในการใช้กลยุทธ์นี้ กล่าวคือ ไม่ลืมคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม การสร้างสมดุลระหว่างความน่าตื่นเต้นกับความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในโลกการตลาดสมัยใหม่