“ฟองสบู่ NFT แตกแล้วหรือยัง ? จากมูลค่าตลาดรวมของ NFT ที่ลดลงกว่า 95%” นี่คือข่าวล่าสุด ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา
หากใครเคยได้ยินทฤษฎี วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Product Life Cycle (PLC) ก็จะคุ้นว่า มันคือ กระบวนการที่ผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง เข้าสู่ตลาดในช่วงแรก (Introduction) พัฒนาเข้าสู่ขั้นเติบโต (Growth) ถึงจุดอิ่มตัว (Maturity) เข้าสู่ช่วงถดถอย (Decline) และถ้าไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ก็จะต้องออกจากตลาดไป การมองแบบนี้ จะทำให้เห็นภาพกว้างว่า สินค้าและบริการทุกอย่าง ต่างก็เป็นไปตาม “วัฏจักร” ของมันเอง
ซึ่งในปี 2023 นี้ ตลาด NFT นับว่าเป็นตลาดขาลง หรือกำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย (Decline) เพราะราคาของ NFT ลดลงอย่างรุนแรง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
โดยคอลเลคชั่น NFT ที่มีชื่อเสียงอย่าง Bored Ape Yacht Club (BAYC) หรือลิงขี้เบื่อ เคยมีมูลค่าสูงสุดถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.23 แสนล้านบาท) ล่าสุดมีมูลค่าเหลือเพียง 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.38 หมื่นล้านบาท) ลดลงกว่า 89%
ถ้าเทียบเป็นจำนวนเงินให้เห็นภาพง่ายๆ สมมติว่า ลงทุนซื้อ NFT ลิงขี้เบื่อ ด้วยจำนวนเงินไป 100 บาท ในตอนที่ NFT ลิงขี้เบื่อ มีมูลค่าสูงสุด ตอนนี้คุณจะเหลือเงินแค่ 11 บาท..
แล้วตลาด NFT มีโอกาสจะกลับมาบูมอีกมั้ย ?
อันดับแรกต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ NFT ก่อนว่า เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ Pain Point อะไรให้กับตลาด
คุณเอก อัชวรานนท์, CEO at Future Competere Venture และอดีต Co-Founder Bitkub ได้อธิบายเกี่ยวกับ NFT ในหัวข้อ “Community Building in Web 3.0” เพิ่มเติมว่า
NFT คือ Non-Fungible Token โดยส่วนใหญ่ ถูกสร้างขึ้นบนเชนของ Ethereum ซึ่งสินทรัพย์ที่สามารถนำมาทำ NFT Token เป็นได้ตั้งแต่ ภาพถ่าย ภาพวาด ไฟล์เสียง มีมบนอินเทอร์เน็ต การ์ดเกม หรือไอเทมในเกม เป็นต้น
โดย NFT Token ทุกตัว จะมีมูลค่าที่ “แตกต่างกัน” ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ยิ่งคนต้องการมาก ราคาก็ยิ่งสูงตาม ที่สำคัญคือ กลไกในการสร้างการรับรู้ของ NFT ใช้หลักการของการสร้าง Community ซึ่งจัดอยู่ในยุคที่ 3 ในการสร้างการรับรู้ของแบรนด์
- ยุค 1 Mass Media (Web 1.0) การใช้สื่อใหญ่ กระจายการรับรู้แบบหว่าน เช่น ยิงโฆษณาผ่าน TV เพื่อสร้างการรรับรู้ในวงกว้าง อาจจะโดนหรือไม่โดนกลุ่มเป้าหมายก็ได้
- ยุค 2 Personalization (Web 2.0) การสร้างการรับรู้เฉพาะบุคคุล เช่น การยิง Ads ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะซื้อหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่ง ณ ตอนนี้ Customer Acquisition Cost (CAC) หรือต้นทุนในการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่หนึ่งคน (รวมค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและค่าใช้จ่ายจากการขายเรียบร้อยแล้ว) ของ Facebook มีราคาแพงแล้ว แต่ CAC ของ TikTok ในตอนนี้ยังมีราคาที่ถูกอยู่
- ยุค 3 Community (Web 3.0) สร้างการรับรู้ผ่านชุมชน (Community) ที่รวมกลุ่มคนที่มีความชอบและรสนิยมเหมือนๆ กัน ซึ่งเรากำลังอยู่ในยุคที่ผู้บริโภค เชื่อการป้ายยาจากผู้บริโภคด้วยกันเอง มากกว่าที่จะเชื่อจากโฆษณา
ยกตัวอย่างเช่น คนที่อยู่ในกลุ่มวิ่ง Facebook เดียวกัน มีอัตราการซื้อรองเท้า ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
กลไกของ NFT ก็เป็นการใช้หลักการเดียวกันกับการสร้าง Community เช่น Bored Ape Yacht Club (BAYC) หรือลิงขี้เบื่อ คอลเล็คชั่น NFT จำนวน 10,000 ชิ้น ที่ขายหมดในเวลา 12 ชั่วโมง เกิดจากผู้พัฒนา ต้องการสร้าง Community ของคนที่รวยจาก Crypto ให้มาอยู่รวมกัน
เมื่อมีความเชื่อเดียวกัน ก็ง่ายที่จะเกิดการซื้อ-ขายกัน ก่อนที่จะกระจายวงกว้างสู่แวดวง Celebrity และคนดัง จนทำให้ราคาของ NFT พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ พร้อมๆ กับช่วงที่คนทั่วไป เริ่มรู้จักคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น
ส่วนหนึ่งที่ NFT ได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง ก็เพราะ NFT เล่นกับความ Limited Edition คล้ายกับการใช้สินค้าแบรนด์เนม หรือการซื้อสกินตัวละคร ROV ราคาแพง ที่มีจำนวนจำกัด รวมถึงสะท้อนความเชื่อในกลุ่มคน ที่เชื่อเรื่อง Decentralized เหมือนๆ กัน
ในเมื่อ NFT กำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย (Decline) ผู้พัฒนา จะทำอย่างไรให้กลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้ง
อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า คน ให้มูลค่ากับงานศิลปะที่จับต้องได้ มากกว่าการถืองานศิปละ NFT
แต่ข้อดีของ NFT คือ เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ Pain Point ในเรื่องของ “ตัวกลาง” เช่น เมื่อก่อนซื้อไอเทมในเกม พอเซิร์ฟเวอร์ปิด เราก็จะทำอะไรต่อไม่ได้ สิทธิ์ความเป็นเจ้าของในไอเทมนั้น จะอยู่ที่เจ้าของผู้พัฒนาเกม ไม่ใช่ของเราจริงๆ เพียงแต่ผู้พัฒนาเกม ให้สิทธิ์ครอบครองไอเทมนั้นชั่วคราวกับเราเฉยๆ โดยเขา จะปิดเกมไปเมื่อไรก็ได้
แต่ NFT ทำให้ถือ Digital Asset ได้ โดยที่ไม่ต้องมีตัวกลาง พูดง่ายๆ คือสามารถซื้อ-ขายไอเทมในเกมได้เลย โดยไม่ต้องขาย Account ซึ่งสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ตกเป็นของเรา 100% โดยสามารถเช็กเลข Smart Contract Address ของ NFT นั้นๆ ได้ ว่าเป็นของแท้มั้ย และเคยถือ ผ่านมือใครมาบ้าง หรือจะเรียกว่า เป็นการเช็ก Verify NFT Authenticity ก็ได้
โดยเว็บไซส์* ที่นิยมใช้เช็กเลข Smart Contract Address ในกรณีที่ NFT สร้างขึ้นบน Chain ของ Ethereum คือ https://etherscan.io/address/0xbc4ca0eda7647a8ab7c2061c2e118a18a936f13d
*เป็นเว็บไซต์สำหรับเช็ก NFT ที่ถูกสร้างขึ้นมาบน Chain Ethereum เท่านั้น หากสร้างบน Chain อื่น ก็ต้องไปดูที่ Block Explorer ของ Chain นั้นๆ แทน
สรุปแล้ว NFT กำลังจะตาย จริงมั้ย ?
Jenosize มองว่า
NFT มีจุดขาย (Unique Selling Points) ที่ดี ในเรื่องของการเล่นกับความ Limited Edition และความเป็นเจ้าของ ที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ (Decentralization) อย่างเท่าเทียม ถึงแม้ NFT จะอยู่ในตลาดขาลง แต่คงไม่มีผู้พัฒนาคนไหน ยอมปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองสร้างมากับมือ หายไปจากตลาดง่ายๆ นี่จึงเป็นที่มาของการแก้ Pain Point ของตลาด NFT ที่ยังคงมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เช่น
- การให้ NFT Loyalty Fee 5-10% (Creator กำหนดได้เอง) กับเจ้าผลงาน NFT ในทุกๆ ครั้งที่เกิดการซื้อ-ขาย (Transaction)
- การ Lead ให้ผู้พัฒนา NFT ขายผลงานเป็น Set
- การสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการผลิต NFT ให้มีจำนวนจำกัด เช่น 10,000 ชิ้น
โจทย์ใหญ่ คือ ผู้พัฒนา จะสามารถทำให้ NFT กลับมาอยู่ในช่วง Introduction และขึ้นไปถึงขั้น Growth ได้อีกครั้งมั้ย ในขณะที่คนทั่วไปในวงกว้าง ก็ต้องให้การยอมรับในตัว NFT รวมถึงเชื่อมั่นในเลข Smart Contract Address ว่ามีมูลค่า ไปพร้อมๆ กัน